วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

เกร็ดความรู้

สมุนไพรแก้ไข้

อาการไข้
     ร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีการปรับอุณหภูมิให้อยู่ในช่วงที่เหมาะสม
ไม่เปลี่ยนแปลงไปมาก เมื่อเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิของอากาศภายนอก เพื่อให้การทำงานของร่างกายเป็นไปได้อย่างปกติ ศูนย์ที่ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมินี้อยู่ในสมองส่วนกลาง ซึ่งศูนย์นี้จะมีหน้าท่ควบคุมอุณหภูมิรับสัญญาณจากบริเวณต่างๆของร่างกาย และคอยควบคุมให้ร่างกายเก็บความร้อน สร้างความร้อนเพิ่มหรือลดความร้อนโดยถ่ายเทความออกไปมากขึ้น อุณหภูมิปกติของคนไม่ได้คงที่ตลอดเวลา มีการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อยในแต่ละช่วงของวัน โดยเฉพาะในช่วงค่ำ 18.00-20.00 น. อุณหภูมิมักสูงสุดและจะค่อยๆลดลงจนต่ำสุดในเวลาใกล้สว่าง 2.00-4.00 น. และจะเพิ่มสูงขึ้นอีกเช่นนี้ทุกวัน การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเช่นนี้สังเกตเห็นได้ชัดในเด็กมากกว่าผู้ใหญ่
    
ไข้ เป็อาการที่แสดงถึงความผิดปกติของร่างกาย หมายถึง สภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบาย ผิวหนังร้อน โดยเฉพาะบริเวณหน้าผาก ลำตัว ซอกรักแร้และขาหนีบ เป็นต้น     ไข้จำแนกตามระดับอุณหภูมิได้เป็น 3 ระดับ คือ     ไข้ต่ำ อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 37.0 ํc - 38.9 ํc
     ไข้ปานกลาง อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 38.9 ํc - 39.5 ํc
     ไข้สูง อุณหภูมิร่างกายอยู่ระหว่าง 39.5 ํc - 40.0 ํc
     
สาเหตุของไข้มีมากมาย ดังนี้คือ
1. การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส และโปรโตซัว เช่น ไข้หวัด ไข้มาลาเรีย ไข้จากแผล ฝีหนอง
2. การกระตุ้นจากเหตุผิดปกติบางอย่างในร่างกายที่ไม่ใช่การติดเชื้อ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
3. ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิมิได้รับการกระทบกระเทือนจากความผิดปกติในสมองโดยตรง เช่น เนื้องอกในสมอง เส้นเลือดในสมองแตก
4. ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิมิได้รับการกระทบกระเทือนจากเหตุภายนอก เช่น การผ่าตัด การตื่นเต้นสุดขีด เป็นต้น
5. การแพ้ยาหรือเซรุ่ม เช่น ไข้ภายหลังการให้เลือด
6. เหตุอื่นๆ เช่น การออกกำลังกายกลางแดด เป็นต้น
     การวัดไข้โดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า เทอร์โมมิเตอร์ จะช่วยจำแนกความหนักเบาของไข้ได้ง่ายขึ้น ถ้าไม่มีอุปกรณ์ให้ใช้หลังมือสัมผัสหน้าผาก ลำตัว หรือบริเวณอื่นก็พอรู้สึกได้คร่าวๆ
     อาการไข้ที่ควรส่งโรงพยาบาล
     อาการไข้ ที่เกิดร่วมกับอาการต่อไปนี้จัดเป็นอาการที่เป็นอันตราย ควรส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว คือ
1. ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว
2. คอแข็ง ก้มไม่ลง หรือทารกที่มีอาการกระหม่อมโป่งตึง
3. ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ค่อยขึ้น
4. กลัวน้ำ
5. ชัก
6. หอบหรือเจ็บหน้าอกรุนแรง
7. ผิวหนังซีดหรือเป็นสีเหลือง หรือมีจุดแดง หรือจ้ำเขียวตามตัว ปวดตามข้อหรือบวม
8. ปวดสีข้าง ปัสสาวะขุ่น
     สมุนไพรลดไข้ส่วนใหญ่ จะมีฤทธิ์ลดไข้อย่างเดียว ไม่มีฤทธิ์แก้ปวดควบคู่เหมือนยาแผนปัจจุบัน และพบว่าสมุนไพรจำพวกนี้มักจะมีรสขมรับประทานยาก ทั้งวิธีใช้ส่วนใหญ่เป็นวิธีต้ม ไม่มีการกลบกลิ่น รส แต่อย่างไรก็ดี รสขมนี้สามารถทำให้การหลั่งน้ำลายเพิ่มขึ้น กระตุ้นให้อยากอาหาร มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยซึ่งต้องการสารอาหารเพิ่มเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงเช่นเดิม
    
 สมุนไพรแก้ไข้ควรนำมาใช้กับอาการไข้ปานกลางหรือต่ำ และมีข้อควรระวัง ดังนี้ คือ
1. เป็นอาการไข้ที่ไม่นานเกิน 7 วัน
2. ไม่มีอาการร่วมกับไข้ที่รุนแรง เช่น หนาวสั่นมาก ปวดศีรษะรุนแรง เจ็บหน้าอก หรือปวดท้องรุนแรง
3. ไข้ที่เกิดจากการอักเสบที่ผิวหนัง เช่น แผลผุพอง ฝี นอกจากใช้ยาแก้ไข้ ให้ใช้ยาฆ่าเชื้อ พร้อมกับการทำความสะอาดแผลหรือผ่าฝี เพื่อรักษาสาเหตุ
4. ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ขวบ เพราะเด็กมีความทนต่อยาต่ำกว่าผู้ใหญ่
5. ถ้าใช้สมุนไพรแก้ไข้นาน 3-4 วัน อาการคงเดิมหรือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวลง ควรเปลี่ยนวิธีการรักษา   

 สมุนไพรลดไข้ ได้แก่บอระเพ็ด ใช้เถาสดครั้งละ 2 คืบครึ่ง หรือ 30-40 กรัม ตำคั้นเฉพาะน้ำหรือต้มกับน้ำ 3 ส่วนเคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มจนหมด วันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น หรือดื่มเมื่อมีอาการ
ชิงช้าชาลใช้เถาสดยาว 2 นิ้วต่อครั้ง ต้มน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มก่อนอาหาร วันละ 1-2 ครั้ง หรือเมื่อมีอาการ
ย่านาง ใช้รากแห้งครั้งละ 1 กำมือ (15 กรัม) ต้มน้ำดื่มก่อนอาหาร วันละ 3 ครั้ง
ลักกะจั่น ใช้แก่นที่มีสีแดงหรือที่เรียกว่า จันทน์แดง ประมาณ 5-10 ชิ้น (แต่ละชิ้นกว้างยาวประมาณ 2*3 นิ้ว) สับให้มีขนาดเล็กพอประมาณ ต้มกับน้ำ 6 ถ้วย เคี่ยวให้เหลือ 4 ถ้วย แบ่งดื่มครั้งละครึ่งถ้วยเมื่อมีไข้ หรือใช้ยาประสะจันทน์แดงชนิดผง ละลายน้ำสุกครั้งละ 1 ช้อนกาแฟ

สมุนไพรแก้ปวดฟัน

กานพลู
ส่วนที่ใช้ ช้ดอกตูมแห้งหรือน้ำมันกานพลู

สารสำคัญ น้ำมันหอมระเหยที่กลั่นจากดอกเรียกว่า น้ำมันกานพลู มีส่วนประกอบสำคัญเป็น eugenol ซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่
ขนาดและวิธีใช้ ใช้ดอกตูมแห้ง 5-8 ดอก บดเป็นผง เติมแอลกอฮอล์เล็กน้อย ชุบสำลี อุดรูฟันที่ปวด เมื่อหายปวดฟันแล้วต้องไปพบทันตแพทย์

ผักคราดหัวแหวน
ส่วนที่ใช้ ดอกช่อหรือทั้งต้น
สารสำคัญ มีสาร spilanthol ซึ่งมีฤทธิ์เป็นยาชาเฉพาะที่ในดอกมีปริมาณสูงกว่าทั้งต้น
ขนาดและวิธีใช้ ใช้ดอกตำผสมเหล้าโรงเล็กน้อย ชุบสำลีอุดรูฟันที่

สมุนไพรระงับกลิ่นปาก    

กลิ่นปากเกิดจากสาเหตุหลายประการ เช่น การติดเชื้อในปาก ฟันผุ รวมถึงการย่อยอาหารไม่สมบูรณ์ หรือรับประทานอาหารบางชนิดที่มีกลิ่นแรง สมุนไพรที่ใช้ระงับหรือดับกลิ่นปาก มักมีน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย คือ
กานพลูใช้ดอกตูมแห้ง 2-3 ดอก อมไว้ในปากแล้วคายทิ้ง หรือบดเป็นผงและใช้อมหรือรับประทานในขนาดที่ใช้ขับลม
ฝรั่ง ใช้ใบสด 2-3 ใบ เคี้ยวและคายทิ้ง หลังจากรับประทานอาหาร

สมุนไพรแก้อาการท้องเสีย

อาการท้องเสียเกิดจากสาเหตุหลายประการ อาการท้องเสียที่เกิดจากรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด ซึงระคายเคืองเนื้อเยื่อบุผิวกระเพาะอาหารและลำไส้ ทำให้บีบตัวมากผิดปกติ มักถ่ายหลังอาหารประมาณ 1-2 ชั่วโมงและต้องถ่ายบ่อย มีลักษณะหยาบและเป็นน้ำ กลิ่นเหม็นผิดปกติ ไม่มีอันตราย แต่จะมวนท้องและรำคาญ ใช้สมุนไพรรักษาได้ดี ที่สำคัญคือท้องเสียจากการรับประทานอาหารที่ไม่สะอาด มีเชื้อโรค เชื้อโรคที่ทำให้ท้องเสียมีอยู่หลายชนิด ทั้งที่มีพิษไม่รุนแรงนักจนถึงรุนแรงมาก เช่น อาหารเป็นพิษ อาจถ่ายเป็นน้ำสีเหลืองหรือขาวขุ่น เป็นฟองกลิ่นเหม็นเหมือนกุ้งเน่า บางครั้งมีอาเจียนร่วมด้วย หรือไม่ถ่ายแต่อาเจียนและปวดท้องมากก็ได้ มักท้องเสียใน 6-12 ชั่วโมง ควรรีบไปพบแพทย์และรักษาให้ถูกต้อง อาจเป็นอันตรายถึงตายได้
     สมุนไพรที่ใช้แก้อาการท้องเดินที่ใช้ได้ผลและหาได้ง่าย คือ ใบชาชงเข้มข้น กล้วยน้ำว้าดิบ ทับทิม ฟ้าทะลาย สีเสียดเหนือ มังคุดและฝรั่ง ควรงดอาหารรสจัด และทานอาหารอ่อนๆทดแทนการสูญเสียน้ำด้วยการดื่มน้ำเกลือซึ่งมีจำหน่าย หรือเตรียมเองก็ได้ โดยใช้น้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เกลือป่นครึ่งช้อนชา น้ำ 1 ขวดน้ำปลา ต้มให้เดือดสักครู่ ทิ้งให้เย็น ดื่มแทนน้ำ
    สารสำคัญในสมุนไพรที่ออกฤทธิ์แก้อาการท้องเสียส่วนใหญ่ คือ สารในกลุ่มแทนนินซึ่งมีรสฝาดและมีฤทธิ์ฝาดสมาน ในกรณีท้องเสีย เนื้อเยื่อที่ผนังลำไส้ใหญ่มีการระคายเคือง อาจเนื่องจากสารอาหารรสจัด สารเคมีบางชนิดหรือพิษของเชื้อโรค ทำให้ลำไส้ใหญ่บีบตัวมากกว่าปกติ จึงเกิดการถ่ายอุจจาระบ่อยๆ สารแทนนินเมื่อสัมผัสกับผนังลำไส้ใหญ่จะรวมตัวกับโปรตีนที่เนือ้เยื่อบุผิวแล้วเปลี่ยนเป็นสารที่สามารถทำลายโปรตีนของตัวเชื้อโรคและทำให้เชื้อโรคตาย การใช้สมุนไพรที่มีแทนนินมีข้อควรระวังสำหรับผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ เพราะแทนนินอาจถูกดูดซึมเข้าร่างกายในปริมาณมาก และมีผลเสียต่อตับ
กล้วยน้ำว้า รับประทานผลดิบสดครั้งละครึ่งถึง 1 ผล อาจใช้ผลดิบหั่นบางๆตากแห้ง บดเป็นผงชงน้ำดื่ม ใช้ผงยาเท่ากับครึ่งถึง 1 ผล
     ข้อควรระวัง อาจมีการท้องอืดหลังรับประทานยานี้ แก้ได้โดยดื่มน้ำต้มขิงหรือสมุนไพรขับลมอื่นๆ

ทับทิม ใช้เปลือกผลแห้งประมาณ 1/4 ของผล ต้มกับน้ำปูนใสดื่ม หรือใช้ครั้งละ 3-5 กรัม ต้มน้ำดื่ม วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ฝรั่งใช้ใบแก่ 10-15 ใบ ย่างไฟให้กรอก ต้มน้ำดื่ม 1 แก้ว เหยาะเกลือเล็กน้อย ดื่มต่างน้ำ หรือใช้ผลดิบ 1 ผล ฝนกับน้ำปูนใสดื่ม
ฟ้าทะลาย พืชสด 1-3 กำมือ ต้มน้ำดื่มก่อนอาหารวันละ 3 ครั้ง สำหรับผงฟ้าทะลายที่บรรจุแคปซูลๆละ 500 มิลลิกรัม ให้กินครั้งละ 2 เม็ด วันละ 2-3 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า กลางวันและเย็น หยุดยาเมื่อหยุดถ่าย อาจใช้ในรูปผงละลายน้ำหรือปั้นเป็นลูกกลอนก็ได้ โดยคำนวณจากจำนวนเม็ดให้ได้ปริมาณยาตามที่กำหนด อาการข้างเคียงที่อาจพบ คือ คลื่นไส้ อาเจียนเป็นน้ำใส ไม่สบายในท้อง ถ้าเป็นมากให้หยุดยา
มังคุด ใช้เปลือกผลแห้งครึ่งผล (ประมาณ 4 กรัม) ย่างไฟให้เกรียม บดเป็นผงละลายน้ำหรือฝนกับน้ำปูนใสประมาณครึ่งแก้ว ใช้น้ำดื่มทุก 2 ชั่วโมง


สมุนไพรแก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาการจุกเสียด แน่นท้อง
   อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เกิดจากการที่อาหารไม่ย่อยหรือย่อยไม่สมบูรณ์ การที่รับประทานอาหารย่อยยาก มีไขมันสูง อาหารสุกๆดิบๆ รสจัด หรือรับประทานเร็วเกินไปเคี้ยวไม่ละเอียด มีความเครียด ความกังวลอารมณ์เศร้าหมอง ทำให้อาหารย่อยไม่ดี จะเกิดลมในกระเพาะอาหารมากและดันขึ้นมาที่บริเวณยอดอก จึงเกิดอาการอึดอัดในท้อง จุกเสียด แน่น คลื่นไส้ เรอเหม็นเปรี้ยว อาเจียน ถ้าเป็นมากจะปวดท้องเกร็ง อาจท้องผูกหรือท้องเสียร่วมด้วยก็ได้ เพื่ออาหาร ปวดศีรษะและเป็นแผลร้อนในในปากด้วย
วิธีแก้ไข
    ควรรับประทานอาหารให้ถูกต้องตามหลักโภชนาการ เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน หลีกเลี่ยงอาหารที่มีก๊าซ เช่น น้ำอัดลม ถั่ว มะม่วง เป็นต้น และใช้สมุนไพรขับลมที่จะกล่าวถึงร่วมกับสมุนไพรช่วยย่อย เช่นเนื้อสับปะรดสด หัวกระเทียมสดหรือเหง้าขมิ้นชัน
กระชายใช้เหง้าและรากประมาณครึ่งกำมือ (สด 5-10 กรัม แห้ง 3-5 กรัม) ต้มพอเดือดเอาดื่ม หรือปรุงอาหารรับประทานได้
กระเทียม ใช้กระเทียม 5-7 กลีบ ซอยละเอียดรับประทานหลังอาหารทุกมื้อ
กระเพราเด็กอ่อนใช้ใบสด 3-4 ใบ ใส่เกลือเล็กน้อย บดให้ละเอียดผสมน้ำผึ้งหยอดให้เด็กอ่อนเพิ่งคลอด 2-3 หยด เป็นเวลา 2 วันจะช่วยขับลมและถ่ายขี้เทา สำหรับผู้ใหญ่ใช้ยอดสด 1 กำมือต้มพอเดือด ใช้ใบกระเพราแห้ง 1 กำมือ ( 4กรัม ) ใบสดใช้ 25 กรัม ชงกับน้ำดื่มเป็นยาขับลม หรือป่นเป็นผงครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ ชงกับน้ำหรือใช้ใบสดแกงเลียงให้สตรีหลังคลอดรับประทาน
กระวานไทย ใช้ผลที่แก่จัด 6-10 ผล ชงกับน้ำครึ่งถ้วยแก้ว
กานพลู ใช้ดอกตูมแห้ง 5-8 ดอก บดเป็นผงชงน้ำดื่ม หรือใช้ดอกตูมแห้ง 1-3 ดอกใส่ในกระติกน้ำร้อน ที่ใช้ชงนมเด็กอ่อน เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กท้องอืดท้องเฟ้อ
ข่า ใช้เหง้าสดหรือแห้ง ขนาดหัวแม่มือ (สดใช้ 5 กรัม แห้ง 2 กรัม) ต้มเอาน้ำดื่ม หรือตำให้แหลก เติมน้ำหรือน้ำปูนใส ดื่มครั้งละครึ่งถ้วยแก้ว
ขิงใช้เหง้าสดขนาดนิ้วหัวแม่มือต้มกับน้ำหรือใช้ผงขิงแห้งชงน้ำดื่ม
ขมิ้นชันล้างขมิ้นให้สะอาด (ไม่ต้องปอกเปลือก) หั่นเป็นชิ้นบางๆตากแดดสัก 1-2 วัน บดให้ละเอียดผสมกับน้ำผึ้งเป็นเม็ดขนาดปลายนิ้วก้อย เก็บในขวดสะอาด กินครั้งละ 2-3 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน บางคนกินขมิ้นแล้วท้องเสีย ให้หยุดยาทันที
ดีปลีใช้ผลแห้ง 3-4 ผล ชงน้ำดื่ม
ตะไคร้ ใช้ลำต้นและโคนใบแก่สด ทุบพอแหลก ประมาณ 1 กำมือ (40-60 กรัม) ชงเอาน้ำดื่มวันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารหรือใช้ประกอบอาหาร
มะละกอรับประทานเป็นผลไม้
สับปะรดรับประทานเป็นผลไม้

สมุนไพรแก้ท้องผูก
        อาการท้องผูกเกิดจากสาเหตุหลายประการ ที่สำคัญ คือ ชอบรับประทานอาหารที่มีกากน้อย ได้แก่ อาหารจำพวกแป้ง เนื้อสัตว์ ข้าวและขนมหวานต่างๆ ไม่ชอบรับประทานผักและผลไม้ ดื่มน้ำน้อยเกินไป ถ่ายอุจจาระไม่เป็นเวลาและชอบกลั้นอุจจาระ ออกกำลังกายน้อยเกินไป ความเครียดในการงาน คนแก่มักท้องผูกเพราะความต้องการอาหารน้อยลงและลำไส้ไม่ค่อยทำงาน คนไข้ที่นอนนานๆไม่ได้ออกกำลัง ลำไส้จะไม่บีบตัวและท้องผูก
     วิธีแก้ไข รับประทานอาหารที่มีกาก เช่น ผัก ผลไม้ ดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ออกกำลังให้สม่ำเสมอ ถ่ายอุจจาระให้เป็นเวลาทุกวัน ถ้าจำเป็นใช้สมุนไพรที่เป็นยาระบาย
     ข้อควรระวังในการใช้ยาระบายหรือยาถ่าย
1. คนไข้อ่อนเพลีย
2. มีอาการปวดท้องรุนแรงหรืออาเจียน
3. ท้องผูกเป็นเวลานาน ใช้ยาระบายไม่ได้ผล ควรสงสัยว่าอาจเป็นเพราะลำไส้อุดตัน
4. มีการอักเสบในช่องท้อง เช่น ไส้ติ่งอักเสบ


ผู้ป่วยข้างต้นควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
     หลักการเลือกใช้สมุนไพรที่เป็นยาระบาย คือ ควรเลือกให้เหมาะกับสาเหตุของอาการท้องผูก ดังนี้
1. ยาระบายชนิดเพิ่มกาก เป็นสมุนไพรที่มีส่วนประกอบเป็นโพลีแซคคาลายด์ ซึ่งมีโมเลกุลใหญ่ เช่น เม็ดแมงลัก หรือมีเส้นใยมาก ได้แก่ มะละกอสุก เป็นต้น เหมาะกับผู้ที่รับประทานอาหารที่มีกากน้อย
2. ยาระบายชนิดกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวเพื่อขับถ่าย เหมาะกับคนสูงอายุ ผู้ป่วยที่นอนนานๆ นักธุรกิจที่เคร่งเครียด หรือท้องผูกด้วยสาเหตุอื่นๆ สมุนไพรในกลุ่มนี้มีสารแอนทราควิโนนกลัยโคซายด์เป็นสารสำคัญ ได้แก่ ชุมเห็ดเทศ มะขามแขก เป็นต้น ยาระบายชนิดนี้นิยมใช้กันมาก แต่ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกิน 7 วัน เพราะพบว่ามีการทำลายระบบประสาทที่ควบคุมการบีบตัวของลำไส้ หรือทำให้ลำไส้ชินต่อยาและไม่ยอมทำงานตามธรรมชาติ คนไข้จะต้องรับประทานยาถ่ายชนิดนี้ทุกวันและต้องเพิ่มขนาดขึ้น ห้ามใช้กับเด็กและหญิงมีครรภ์
     ในบางกรณีควรแนะนำให้ผู้ป่วยใช้ยาทั้งสองกลุ่มร่วมกันจะได้ผลดีกว่า เช่น คนชราซึ่งท้องผูกเพราะรับประทานอาหารน้อยและลำไส้ไม่ค่อยทำงาน
3. ยาระบายชนิดเป็นกรดหรือเกลือ เช่น มะขามเปียก ความเป็นกรดหรือเกลือจะทำให้ระดับความเป็นกรดด่างในทางเดินอาหารเปลี่ยนไป ร่างกายจะขับน้ำเข้ามาในทางเดินอาหารมากขึ้น เพื่อปรับสภาพกรดด่างจึงทำให้ระบายได้


ขี้เหล็ก ใช้ใบอ่อน 2-3 กำมือ หรือแก่นขนาดยาวชิ้นละ 2 องคุลี (4-6 ซม.) 3-4 ชิ้น ต้มกับน้ำ 1 ถึง 1ครึ่งถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย ดื่มตอนเช้า หรือก่อนอาหารเช้าครั้งเดียว
คูน ใช้เนื้อในฝักก้อนขนาดหัวแม่มือ (4 กรัม) ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว ใส่เกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว
ชุมเห็ดเทศ ใช้ช่อดอก 1-3 ช่อ ต้มจิ้มน้ำพริก หรือใบสด 8-12 ใบ ปิ้งไฟให้เหลือง หั่นต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว เติมเกลือเล็กน้อย รินเฉพาะน้ำดื่มหรือใบแห้ง ขนาดเท่ากับใบสดต้มหรือชงน้ำดื่ม หรือบดเป็นผงปั้นเป็นยาลูกกลอนขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย รับประทานก่อนนอน หรือเมื่อมีอาการท้องผูก
มะขาม ใช้มะขามเปียก 10-20 ฝัก (70-80 กรัม) จิ้มเกลือ รับประทานหรือดื่มน้ำตามมากๆ หรือทำเป็นน้ำมะขามดื่ม
     ข้อควรระวัง รับประทานมากไปอาจทำให้ท้องเสียได้
มะชามแขก ใช้ใบ 2 กรัม หรือฝัก 10-15 ฝัก ขิงประมาณ 1 กรัม หรือกานพลู 1-2 ดอก ต้มกับน้ำ 1 ถ้วยแก้ว 5 นาที เติมเกลือเล็กน้อย รับประทานครั้งเดียว
มะละกอ รับประทานเป็นผลไม้
แมงลัก ใช้ผลครึ่งถึง 1 ช้อนชา แช่น้ำให้พอง แล้วรับประทานครั้งเดียวก่อนนอน
     ข้อควรระวัง อย่ารับประทานมากเกินไปจะทำให้แน่นท้องได้


สมุนไพรรักษาริดสีดวงทวาร
ริดสีดวงทวาร คือ โรคที่เส้นเลือดดำบริเวณทวารหนักโป่งพอง ซึ่งอาจเป็นเส้นเลือดที่บริเวณปากทวารหนัก เรียกว่า ริดสีดวงทวารภายนอก ถ้าเป็นเส้นเลือดที่ผนังท่อทวารหนัก จะเรียกว่า ริดสีดวงทวารภายใน
     อาการของริดสีดวงทวารระยะแรก อาจมีเพียงการถ่ายอุจจาระลำบาก คันก้น รู้สึกเจ็บเวลาถ่าย บางครั้งมีเลือดออกเวลาถ่ายหรือหลังการถ่ายอุจจาระ มีลักษณะเป็นเลือกสีแดงสดๆ ถ้าไม่ปรับปรุงพฤติกรรมหรือไม่ได้รับการรักษา อาการจะเด่นชัดขึ้น คือ มีหัวริดสีดวงโผล่ออกมาที่ปากทวารหนักเป็นก้อนเนื้อนุ่มๆอักเสบ เจ็บปวดมากจนนั่งเก้าอี้หรือพื้นแข็งไม่ได้ มักพบในคนที่มีภาวะความกดดันของเส้นเลือดบริเวณทวารหนักนานๆ เช่น มีอาการท้องผูกบ่อยๆ ไอเรื้อรัง อ้วน นั่งทำงานนานๆ เป็นต้น
     การป้องกันและการดูแลตนเอง
1. ควรระวังอย่าให้ท้องผูกเรื้อรัง หรืออย่าเบ่งแรงๆ หรือนานๆเวลาถ่ายอุจจาระ ควรรับประทานน้ำ ผัก ผลไม้ให้มากๆเพื่อไม่ให้ท้องผูก หรืออาจใช้ยาระบายช่วยเป็นครั้งคราว ถ้ามีอาการมากควรไปพบแพทย์ เพราะอาจต้องรักษาโดยการผ่าตัด
2. ป้องกันไม่ให้มีการอักเสบหรือติดเชื้อเพิ่มขึ้น โดยทำความสะอาดหลังอุจจาระด้วยสบู่และน้ำสะอาด การเช็ดแรงๆจะทำให้อักเสบและติดเชื้อโรคง่าย
3. ถ้าปวดมาก ให้กินยาแก้ปวดและนั่งแช่ในน้ำอุ่น ผสมด่างทับทิมนาน 15-30 นาที วันละ 2-3 ครั้ง
4. ถ้าเลือดออกบ่อยๆ ให้สังเกตว่าเยื่อบุตาและเนื้อใต้เล็บซีดกว่าคนทั่วไปหรือไม่ ถ้าซีดควรไปพบแพทย์
5. ถ้ามีเลือดออกนานเกิน 1 สัปดาห์ หรือผู้ป่วยเกิน 40 ปี ควรไปพบแพทย์เพราะอาจมีโรคอื่นๆร่วมด้วย
เพชรสังฆาต ใช้ลำต้นสดหรือแห้งครั้งละ 2-3 องคุลี (6-9 ซม.) เป็นเวลา 10-15 วันติดต่อกัน โดยหั่นบางๆ ใช้เนื้อมะขามเปียกหรือเนื้อกล้วยสุกหุ้ม กลืนทั้งหมด เพราะเถาสดอาจทำให้คันคอหรือใช้ดองเหล้า 7 วัน รินเฉพาะส่วนน้ำดื่ม
     ข้อควรระวัง ในต้นมีสารแคลเซียมออกซาเลท เป็นผลึกรูปเข็มอยู่มาก ทำให้ระคายเคืองลำคอได้เช่นเดียวกับบอน จึงนิยมสอดไส้ในกล้วยสุกหรือมะขามแล้วกลืนพร้อมกัน ปัจจุบันมีผู้ใช้เถาแห้ง บดเป็นผง และบรรจุแคปซูลรับประทานเพื่อแก้ปัญหานี้ แต่ยังคงสามารถทำให้ผู้ใช้บางคนปวดท้องได้


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น